วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
กล้ายอมรับ “ ฉันไม่ใช่ แม่ เพอร์เฟค ”?!
คุณว่าตัวเองเป็น แม่ ที่สมบูรณ์แบบหรือเปล่า หากคุณยอมรับและมี “ความกล้าที่จะเป็นคนไม่สมบูรณ์แบบ**”ถ้าคุณกล้าพอ คุณจะพบของขวัญที่มนุษย์ทุกคนต้องการ…
…การมีชีวิตโดยไม่ต้องกังวล ถึงเรื่องที่ผ่านมาในอดีตและอนาคตแต่อยู่กับปัจจุบัน และพร้อมจะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นใจ ในแบบที่ตัวเองเป็น…อย่างที่แม่ติ๋วและตั้มหาของขวัญชิ้นนี้เจอแล้ว
เพราะคุณและลูกของคุณต่างเป็นมนุษย์ ต่างไม่สมบูรณ์แบบ
ด้วยตอนเล็กๆ ครอบครัวของแม่ติ๋วค่อนข้างลำบาก จึงต้องอดทน ทำงานช่วยเหลือครอบครัวตั้งแต่อายุน้อยๆ แต่แม่ติ๋วก็เป็นเด็กเรียนดี หยิบจับอะไรก็ทำได้ดี ทำงานส่งตัวเองเรียนจนจบ มีหน้าที่การงานดี แม่ติ๋วจึงเป็นคนเชื่อมั่นในตัวเองสูง ไม่มีคำว่าผิดพลาดในชีวิตแม่ เมื่อมีครอบครัวและลูก
แม่ติ๋วก็ตั้งใจทำหน้าทีแม่ทุกอย่างเต็มที่ อยากให้ลูกทำได้เหมือนแม่ ทว่าตั้มกลับเป็นตรงกันข้าม
ตอนนี้ตั้มอายุ8 ขวบแล้วเรียนไม่ค่อยดี ดนตรี กีฬา ศิลปะก็ไม่ค่อยถนัด ทุกครั้งที่ลูกชายทำอะไรแล้วไม่สำเร็จ แม่จะว่า “ไม่เอาไหน แม่ลำบากตั้งแต่เล็กๆ แต่ก็ยังเรียนได้ดีเลย”แต่ตั้มไม่เคยสนใจคำแม่ แม่คิดว่าตั้มเป็นเด็กดื้อเงียบ
มีอย่างหนึ่งที่ตั้มชอบมาก ประกอบตัวต่อหุ่นยนต์ เขาทำได้ไม่มีเบื่อ ประกอบเสร็จจะเอามาให้แม่ดูทุกครั้ง แต่แม่ไม่ค่อยสนใจ เพราะไม่เห็นประโยชน์ แถมบ่นส่งท้าย “ทำอะไรไม่รู้ เอาเวลาไปทบทวนหนังสือหนังหา จะได้เรียนสู้คนอื่นได้ดีกว่า” และถ้ายิ่งเวลาแม่ทำงาน แล้วหงุดหงิด แทบไม่ได้มองหุ่นยนต์ที่ตั้มมาวางให้ดูด้วยซ้ำ
วันนั้นแม่ติ๋วกำลังคุยโทรศัพท์กับลูกค้าที่โทรมายกเลิกงานที่ไปนำเสนอ ไว้ ตั้มกำลังเล่นประกอบตัวต่อเป็นหุ่นยนต์ตัวใหญ่ ใช้เวลาอยู่นานเกือบจะเสร็จอยู่แล้ว แม่วางสายพอดี ถอนหายใจ เริ่มเครียดเพราะเป็นงานสำคัญ กำลังคิดหาทางแก้ไข
ตั้มรีบลุกจะวิ่งไปหาแม่เรียกให้ดูหุ่นยนต์แต่ไม่ทันระวัง จึงชนหุ่นยนต์หล่นจากโต๊ะหลุดกระจายเต็มพื้น ตั้มร้องไห้โฮ!! แม่กำลังหงุดหงิด และตั้มก็ยังร้องไห้ให้บรรยายกาศอึมครึมไปอีก ถ้าเป็นก่อนหน้านี้ แม่คงดุตั้มยกใหญ่ แต่หลังจากแม่ได้รู้จักตัวเองมากขึ้นจากการอบรมเพื่อเป็นพ่อแม่ที่ดีรูปแบบ ใหม่ว่าแม่ให้ความสำคัญกับความคิดของตัวเองมากกว่าจะสนใจความรู้สึกของลูก จึงไม่เคยมองเห็นว่าเวลาที่ลูกทำอะไรไม่สำเร็จเขารู้สึกอย่างไร และวันนี้เมื่อแม่ทำงานสำคัญพลาด ทั้งที่ไม่เคยพลาด ทำให้แม่เข้าใจมากขึ้น
คราวนี้แม่ติ๋วลุกมาหาตั้มแล้วพูดว่า “วันนี้เป็นวันที่แย่จริงๆ สำหรับเราทั้งสองคนเลยนะ แม่เข้าใจความรู้สึกของตั้มดีเพราะแม่เพิ่งถูกปฏิเสธงานที่เสนอลูกไป แต่แม่เห็นว่าตั้มอดทนและมีความพยายามมากทุกครั้งที่ต่อหุ่นยนต์ แม่เชื่อว่าตั้มจะต่อใหม่ได้ แม่ก็จะพยายามเหมือนกันนะ”
การถูกปฏิเสธงานทำให้แม่ติ๋วรู้สึกแย่ แต่แม่ก็แสดงความเข้าใจปัญหาและไม่ละเลยความรู้สึกของตั้มว่ามีความสำคัญ สำหรับแม่เช่นกัน แม่ไม่ปล่อยให้ตัวเองวนเวียนอยู่การพลาดงานครั้งนี้
การเข้าใจและยอมรับความรู้สึกของตนเองและของลูก เป็นวิธีให้เกียรติตัวเองและผู้อื่น (ที่ทั่วไปใช้คำว่าเคารพความรู้สึกตัวเองและความรู้สึกของผู้อื่น) ซึ่งสิ่งนี้ทำให้คนเราเห็นคุณค่าในตนเอง เป็นจุดสำคัญในการเสริมสร้างกำลังใจ
ความสัมพันธ์ของแม่ลูกก็ไปในทางที่ดี แม่ติ๋วผ่อนคลายลง เข้าใจและยอมรับว่าไม่จำเป็นต้องเป็นแม่สมบูรณ์แบบลูกก็รักและเชื่อฟังเธอ ได้ ตั้มให้ความร่วมมือกับแม่เรื่องเรียนมากขึ้น แม่ก็หันมาสนใจการประกอบหุ่นยนต์ของตั้มและมองเห็นข้อดีในตัวตั้มหลายๆ อย่างจากงานนี้
หมายเหตุ** ดร. รูดอล์ฟ ไดรเคอร์ส (Rudolf Dreikurs) จิตแพทย์ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ผู้ริเริ่มพัฒนาแนวคิด “ความกล้าที่จะเป็นคนไม่สมบูรณ์แบบ”
ขอขอบคุณบทความเกี่ยวกับแม่และเด็ก กล้ายอมรับ “ ฉันไม่ใช่ แม่ เพอร์เฟค ”?! จาก นิตยสาร Real Parenting
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น